เว็บไซท์ vanityfair.com มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจของซัมซุงว่าการก็อปความคิดคู่แข่งไม่ใช่เพิ่งมาเกิดกรณีแอปเปิ้ลกับซัมซุง แต่ซัมซุงทำแบบนี้มานานแล้ว
การฟ้องร้องระหว่างแอปเปิ้ลและซัมซุงถึงวันนี้ผ่านมาร่วม 3 ปี บทสรุปเรื่องสิทธิบัตรของทั้งคู่ดูแล้วยังไม่มีทีท่าจบง่าย ๆ เว็บไซท์ vanityfair.com มีบทความชื่อ ‘The Great Smartphone War’ ความยาว 5 หน้า เรื่องราวในบทความเป็นการพูดถึงวิธีการทำธุรกิจของซัมซุงว่าแอปเปิ้ลไม่ใช่รายแรกที่ซัมซุงลอกเลียนแบบ แต่ซัมซุงทำมานานแล้วโดยเฉพาะกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นที่โดนมาไม่น้อย
บทความยาวมาก เลยขอนำจากที่ macrumors.com เขียนข่าวสรุปมาอีกที ในปี 2010 เรื่องราวก่อนที่แอปเปิ้ลจะฟ้องซัมซุงในบทความบอกว่าผู้บริหารแอปเปิ้ลและทีมกฏหมายอื่นได้บินไปพบกับผู้บริหารซัมซุงเพื่อเจรจากันก่อนจะเกิดการฟ้องร้องว่าซัมซุงเลียนแบบแอปเปิ้ล ในการประชุมครั้งนั้นท่านรองประธานซัมซุง Seungho Ahn บอกว่า
“ถ้าแอปเปิ้ลจะเล่นเกมนี้และเลือกที่จะจบด้วยการฟ้องร้อง ทางซัมซุงก็จะทำการฟ้องกลับด้วยเช่นกัน เขาบอกว่าซัมซุงทำโทรศัพท์มานาน มีสิทธิบัตรที่ถือครองอยู่มากมาย น่าจะมีสักสิทธิบัตรที่แอปเปิ้ลละเมิดเราเหมือนกัน”
ในบทความจากที่ผมอ่านใน vanityfair.com มีการเล่าย้อนไปถึงประวัติการก่อตั้งซัมซุงด้วยว่ามีที่มาอย่างไร และเติบโตมาในธุรกิจได้ยังไง โดยใน macrumors.com มีสรุปใจความเรื่องการทำธุรกิจไว้ว่าก่อนที่แอปเปิ้ลจะมาอยู่ในห้วงเวลาการฟ้องร้องแบบนี้ ซัมซุงใช้วิธีขโมยผลงานคนอื่นมาใช้เป็นของตนเองมานานแล้ว
อย่างในปี 2006 ซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรจอโทรทัศน์พลาสม่าของ Pioneer แล้วซัมซุงก็ดึงเรื่องลากยาวเรื่องในชั้นศาลมาถึงปี 2009 ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องยาวนานขนาดนี้ต้องใช้เงินจำนวนมากประกอบกับที่ Pioneer ในช่วงนั้นภาวะบริษัทไม่ค่อยดีอยู่แล้วด้วยต้องปิดส่วนธุรกิจการทำโทรทัศน์ เลยทำให้ท้ายที่สุดซัมซุงชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ไป
ปี 2007 บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอีกราย Sharp ได้ฟ้องซัมซุงว่าละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีโทรทัศน์ของพวกเขาหลายสิทธิบัตร ซัมซุงใช้วิธีฟ้องกลับ Sharp ในเกมนี้ และยังคงผลิตโทรทัศน์ออกขายต่อไป แน่นอนเครื่องโทรทัศน์ที่ซัมซุงปั๊มออกมาภายในเป็นเทคโนโลยีที่ขโมยมาจาก Sharp ธุรกิจโทรทัศน์ของซัมซุงเจริญรุ่งเรื่องตามไปด้วย กว่าเรื่องในชั้นศาลจะจบซัมซุงลากไปถึงปลายปี 2009 ที่ศาลตัดสินว่าซัมซุงผิดจริงและห้ามนำเข้าโทรทัศน์รุ่นดังกล่าว ถึงเวลานั้นซัมซุงก็เปลี่ยนรุ่นโทรทัศน์ของตนเองไปแล้ว
เหตุการณ์ทำนองนี้ยังเคยเกิดขึ้นกับ Kodak และบริษัทอื่นด้วย ซึ่งเมื่อซัมซุงเผชิญหน้ากับแอปเปิ้ลก็ใช้วิธีทำนองนี้ คือก็อปก่อนมีเรื่องในชั้นศาลก็ดึงเกมให้ยืดไปเรื่อย ๆ พวกรุ่นโทรศัพท์ที่แอปเปิ้ลไล่ฟ้องกว่าศาลจะตัดสินก็เลิกขายไปหมดแล้ว
ในบทความเล่าย้อยไปถึงปี 2007 ที่แอปเปิ้ลออก iPhone รุ่นแรก ซ้มซุงนำ iPhone มาเทียบฟีเจอร์กับโทรศัพท์ของบริษัทตนเองชนิดตาต่อตาฟันต่อฟันพบว่า iPhone มีฟีเจอร์ที่เหนือกว่าโทรศัพท์ของตนเอง 126 รายการ และนั้นเป็นที่มาของโทรศัพท์ Galaxy S
ซัมซุงเลือกที่จะไม่เจรจาค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ที่แอปเปิ้ลเรียกร้อง เพราะในอดีตตัวซัมซุงเองผ่านเรื่องแบบนี้มาแล้วไม่มีเคสไหนที่ทำให้ซัมซุงสั่นคลอนได้ ซัมซุงก็ยังละเมิดสิทธิบัตรแอปเปิ้ลมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดมาจบที่แอปเปิ้ลตั้งป้อมฟ้องร้องปกป้องสิทธิบัตรของตนอย่างที่เราทราบกัน
เงินที่แอปเปิ้ลต้องการสวนทางกับที่ซัมซุงจะยอมจ่าย ศาลชั้นต้นตัดสินให้ซัมซุงจ่ายแอปเปิ้ล 1,000 ล้านดอลล่าร์ ซัมซุงฟ้องกลับดึงเรื่องให้นาน ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ผลตัดสินใหม่เหลือ 500 กว่าล้านดอลล่าร์ ซัมซุงดึงเรื่องต่อไม่ยอมง่าย ๆ ผ่านมา 3 ปีวิธีก็อปไว้ก่อนค่อยตามแก้ทีหลังได้ผลดีไม่น้อย เพราะรุ่นโทรศัพท์ที่แอปเปิ้ลระบุว่าละเมิดสิทธิบัตรของตนซัมซุงแทบจะเลิกขายไปหมดแล้ว และมาถึงวันนี้ศาลในแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งให้ซัมซุงจ่ายค่าเสียหายให้แอปเปิ้ลเป็นเงิน $119,625,000 ลดมาจากคำสั่งแรกเมื่อ 3 ปีก่อนที่ปรับร่วมพันล้านอยู่ 10 เท่า
Cr: siampod.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น